วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550

รู้จักฟิล์มกรองแสง


เท่าที่ได้รับฟังจากการเลือกซื้อฟิล์มกรองแสง พบว่า ส่วนหนึ่งของผู้ซื้อยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างความทึบแสงกับความสามารถในการป้องกันความร้อนความเข้าใจที่ว่า ฟิล์มที่มีสีเข้มหรือทึบ ช่วยลดความร้อนได้ดี ในความจริงแล้ว สีหรือความทึบของฟิล์มกรองแสงไม่ได้เป็นตัวช่วยลดความร้อน แต่กลับเป็นสารเคลือบตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่หลักนี้ต่างหาก ลองมาดูว่าส่วนประกอบจากความร้อนที่เราได้รับมีอะไรบ้าง โดยส่วนประกอบของความร้อนที่เราได้รับนั้นมีสัดส่วนและแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ความสว่างของแสงมีสัดส่วน 44% รังสีอินฟาเรด(รังสีใต้แดง)มีอยู่ 53% รังสียูวี(รังสีเหนือม่วง,รังสีอุลตร้าไวโอเลต)มีอยู่ 3% ดังนั้นฟิล์มกรองแสงที่สามารถลดความร้อนได้ดีควรจะลดรังสีทั้ง 3 ส่วนได้มากๆ ตัวอย่างเช่น หากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงมากๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ เป็นประเภทฟิล์มย้อมสีหรือเป็นฟิล์มกรองแสงที่ไม่ได้มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษใดๆ ท่านจะรู้สึกถึงความร้อนที่ผ่านชั้นผิวของฟิล์มกรองแสงเข้ามา นั่นก็คือฟิล์มกรองแสงนั้นๆสามารถลดได้แค่ความสว่างของแสงที่มีสัดส่วนอยู่ 44% แต่รังสีอินฟาเรดยังสามารถผ่านทะลุเข้ามาได้จนรู้สึกถึงความร้อน ในทางกลับกันหากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีส่วนผสมพิเศษไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของโลหะหรืออื่นๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ มีค่าความทึบแสงน้อย(แสงส่องผ่านเข้าไปได้เยอะ) ท่านก็จะรู้สึกถึงความร้อนจากความสว่างของแสงที่ส่องผ่านฟิล์มกรองแสงเข้ามา ส่วนรังสียูวีนั้นเป็นส่วนประกอบน้อยมากของความร้อน (3%) ซึ่งฟิล์มกรองแสงเกือบทั้งหมดสามารถลดรังสียูวีได้มากกว่า 95% อยู่แล้ว

ประเภทของฟิล์มกรองแสง ฟิล์มกรองแสง ผลิตจากแผ่นโพลีเอสเตอร์ที่มีความเหนียว บาง เรียบ สามารถแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับกระจก โดยยึดกับกระจกด้วยกาวที่มีความใส ดังนั้น เราจึงมองผ่านฟิล์มกรองแสงได้ชัดเจน ณ ปัจจุบันสามารถแบ่งโครงสร้างฟิล์มกรองแสงได้ดังนี้


ฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา (ไม่มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษอื่นๆ) โดยฟิล์มกรองแสงชนิดนี้ก็จะมีชนิดย่อยตามการผลิตอีกคือ

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว

ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่บนเนื้อฟิล์ม

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่ในเนื้อฟิล์ม


ซึ่งฟิล์มกรองแสงแต่ละชนิดเป็นเทคนิคในการผลิตซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติทางด้านอายุการใช้งานและราคาที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนคุณสมบัติอื่น เช่น การลดความร้อนไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก สรุป ในส่วนของฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดาจะได้ดังนี้คือระดับราคาจากถูกไปหาแพง 1 – 2 – 3 – 4 อายุการใช้งานของฟิล์มกรองแสงจากมากไปหาน้อย 4 – 3 - 2 – 1


ฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะ โดยแผ่นโลหะนี้จะถูกนำไปประกบหรือรวมกับฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา โดยแผ่นโลหะจะมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันรังสีอินฟาเรดได้ดี ทำให้ฟิล์มกรองแสงประเภทนี้สามารถลดความร้อนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็นชนิดโครงสร้างหลักๆตามฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดาคือ

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว + โลหะ

ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี + โลหะ

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่บนเนื้อฟิล์ม + โลหะ

ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่ในเนื้อฟิล์ม + โลหะ

สรุป ในส่วนของฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะจะได้ดังนี้คือ ระดับราคาจากถูกไปหาแพง 1 – 2 – 3 – 4 อายุการใช้งานของฟิล์มกรองแสงจากมากไปหาน้อย 4 – 3 - 2 – 1

ฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบสารพิเศษ โดยสารพิเศษนี้จะเป็นสารที่สามารถป้องกันรังสีอินฟาเรดได้ดีกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ ฟิล์มกรองแสงประเภทนี้จะเป็นฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงน้อย ซึ่งฟิล์มกรองแสงประเภทนี้มีราคาสูงกว่าฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะ

ฟิล์มนิรภัย เป็นฟิล์มกรองแสงที่มีความหนาของเนื้อฟิล์มตั้งแต่ 4 MIL ขึ้นไป (1 MIL = 1 / 1000 นิ้ว) มีคุณสมบัติในการยึดเกาะกระจกได้ดี เหมาะสำหรับในอาคารสูง และในกรณีที่มีความหนาของเนื้อฟิล์มมากๆ สามารถใช้ในการป้องกันการโจรกรรมรวมถึงป้องกันกระสุน(ขึ้นอยู่กับความหนาของเนื้อฟิล์มและกระจก)

การเลือกติดตั้งฟิล์มกรองแสง
สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงจะต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง ซึ่งก็มีข้อสังเกตและควรพิจารณาด้วยกันหลายประการ สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณาอันดับแรก ก็คือ ให้ตรวจสอบดูว่าฟิล์มกรองแสงที่ทางร้านค้านำมาติดตั้งนั้น ยี่ห้อตรงกับที่เราเลือกไว้หรือไม่ ซึ่งยี่ห้อนั้นแสดงถึงความมีมาตรฐานของผู้ประกอบการ เดี๋ยวนี้ฟิล์มกรองแสงมักจะมีระบบปริ๊นซ์โลโก้ที่เนื้อฟิล์ม ซึ่งจะมีโลโก้สินค้าแสดงอยู่ โดยมีทั้งปริ๊นซ์ 1 - 2 – 3 และมากที่สุด 4 จุด ซึ่งการปริ๊นซ์ยิ่งมากจุด ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้ฟิล์มกรองแสงยี่ห้อที่ได้เลือกติดตั้งแท้ๆ ซึ่งสามารถมองได้ถึง ความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้ว่ามีมานานแค่ไหน ไม่ได้มีการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งบางครั้งเราจะเห็นผู้ประกอบการบางรายเข้ามาทำตลาด แล้วในช่วงระยะแรกหากทำตลาดไม่ดี ก็ปิดบริษัท ล้มยี่ห้อ จากนั้นก็ไปเปิดในชื่อใหม่ และเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ บางบริษัทก็ใช้การโฆษณาเกินความเป็นจริง บางที่ก็ใช้งบโฆษณาที่สูงโดยคุณภาพของสินค้าไม่ได้เหมาะสมกับราคา เช่น ลดความร้อนได้น้อยแต่ราคาแพงมากกว่าฟิล์มกรองแสงที่ราคาถูกๆ ทั่วไปเป็นต้น

เลือกรับประกัน
การรับประกันคุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ในการตัดสินใจ โดยทั่วไปแล้วฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์จะมีการรับประกันคุณภาพไม่ต่ำกว่า 5 ปี บางราย 7 หรือ 10 ปี หรือบางครั้งก็รับประกันตลอกอายุการใช้งานก็มี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขการรับประกันนี้จะหมดไปหากมีการเปลี่ยนมือของการเป็นเจ้าของรถหรือไม่สามารถเก็บใบรับประกันมายืนยันตอนเคลมสินค้า ซึ่งตรงนี้ผู้บริโภคควรรักษาสิทธิ์ให้ดี

เลือกร้านติดตั้ง
ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายก็มีส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบ ทุกวันนี้ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์จะขายผ่านร้านประดับยนต์ ร้านติดตั้งเครื่องเสียง ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีทั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายโดยตรง กับไม่ได้รับการแต่งตั้ง ร้านที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจะนำฟิล์มเข้ามาจำหน่ายเอง ซึ่งก็เสี่ยงต่อฟิล์มคุณภาพต่ำ บางแห่งก็เสนอฟิล์มแบบมียี่ห้อ ให้ดู พอตอนติดตั้งแอบไปเอาฟิล์มอะไรไม่รู้มาติดรถ อย่างนี้ก็มี เราสามารถพิจารณาได้ว่าร้านใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือไม่ โดยสังเกตจากป้ายหน้าร้าน หรือใบที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือใบรับประกันสินค้า หรือถ้าต้องการความมั่นใจโทรศัพท์สอบถามจากผู้นำเข้าโดยตรง

ฝีมือช่าง
ต้องชำนาญการติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์หากได้ฟิล์มคุณภาพ แต่หากช่างที่ติดตั้งไม่มีฝีมือก็ไร้ประโยชน์ การติดฟิล์มกรองแสงนั้น นอกจากคุณภาพของฟิล์มแล้ว หากต้องการให้ฟิล์มอยู่คงทนนานต้องขึ้นอยู่ที่ฝีมือของช่างคนนั้นด้วยช่างที่ติดฟิล์มกรองแสงจะต้องมีฝีมือในการกรีดฟิล์ม เพราะหากมือไม่ดีพอ เวลาที่กรีดฟิล์มลงสู่กระจกจะทำให้ฟิล์มนั้นไม่เสมอกัน โดยเฉพาะตรงขอบกระจก และถ้าเลวร้ายไปกว่านั้น บางครั้งอาจกรีดโดนกระจกรถยนต์ และทำให้เป็นรอยได้ และยังรวมถึงความระมัดระวังในเรื่องอื่นๆ เช่น การทำความสะอาดกระจก การระมัดระวังเรื่องฝุ่น ซึ่งเรื่องฝุ่นนี้จะมีได้บ้างตามขอบกระจกซึ่งไม่รบกวนสายตาของผู้ขับขี่

รู้ทันเทคนิคการขายฟิล์ม
กรณีที่ร้านค้าบางร้าน มีการสาธิตหรือทดสอบคุณภาพของฟิล์มให้ดู เราควรพิจารณาถึงวิธีการทดสอบคุณภาพของฟิล์มด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น การทดสอบฟิล์มด้วยแสงสปอตไลท์ ไม่ว่าจะโดยการให้ผู้บริโภคใช้มืออัง หรือยืนท่ามกลางแสงสปอตไลท์ เป็นวิธีที่สามารถใช้ในการเปรียบเทียบได้ระดับหนึ่ง แต่วิธีดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่าฟิล์มนั้นๆ สามารถลดความร้อนจากแสงแดดได้เท่าไหร่ ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงทั้งสองชนิดนี้ มีลักษณะแตกต่างกัน และที่แย่กว่านั้นคือ ฟิล์มกรองแสงที่นำมาทดลองอาจเป็นคนละชนิดกับฟิล์มกรองแสงที่นำมาติดที่รถ ซึ่งในปัจจุบันได้มีอุปกรณ์ทดสอบฟิล์มกรองแสงที่มีค่าการลดความร้อนรวมจากแสงแดดในตลาดมากขึ้น

ภาพของฟิล์มกรองแสง
ทางนอื่นๆฟิล์มกรองแสงที่ดีจะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของกาวด้วย กาวที่ดีต้องมีความบางใส และเหนียว เมื่อติดแล้วต้องทนทานต่อสภาวะความร้อนเย็นของกระจกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับกระจกได้ดีไม่ทำให้ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ พอง ลอก ล่อน เป็นฟองอากาศ นอกจากนั้น ฟิล์มที่ดีจะต้องป้องกันรอยขีดข่วน หรือเคลือบสารกันรอยขีดข่วน ฟิล์มกรองแสงทำมาจากโพลีเอสเตอร์ มีจุดอ่อนในเรื่องความอ่อนของผิว ซึ่งมักสามารถเป็นรอยเส้นคล้ายรอยขนแมวได้ง่าย เมื่อมีการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารเคมีที่ทำหน้าที่เคลือบแข็งบนผิวของฟิล์ม ทำหน้าที่ในการป้องกันการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ คุณสมบัตินี้ทำให้ฟิล์มมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และดูสวยงามตลอดอายุการใช้งาน จำไว้ว่าฟิล์มกรองแสงที่ดีไม่ใช่ฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายในการขับขี่ รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงานในการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย ซึ่งการเลือกฟิล์มที่มีค่า SHADING COEFFICENT (SC) ต่ำๆ ยังมีส่วนช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการปรับอากาศได้ และที่สำคัญต้องเป็นฟิล์มที่มีความปลอดภัยสามารถยืดเกาะกระจกได้ ทุกวันนี้ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ที่ขายอยู่ในตลาด มีมากมายเกือบ 100 ยี่ห้อ มีทั้งแบบที่มั่นคงถาวร และแบบเวียนว่ายตายเกิด สร้างยี่ห้อออกมาขาย พอขายไม่ได้ก็เปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นฟิล์มตัวเดิม เวลาเลือกจึงต้องระวัง

ไม่มีความคิดเห็น: